bookreview : มากกว่าจดหมาย

 

DSC01197 re02-02 DSC01195 DSC01196
Love Letters  ปรายพันแสง จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

WARTIM WRITINGS 1939-1944

By ANTOINE DE SAINT-EXUPERY

บันทึกแห่งจิตวิญญาณ : แซงเต็ก ซูเปรี เขียน

Mailbox : โตมร ศุขปรีชา

สำนักพิมพ์ : openbook

ต้นฉบับ ก้าวฯที่ ๒๗ : Bookreview : มากกว่าจดหมาย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเองได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของคุณ อธิคม คุณาวุฒิ ในหนังสือ ฅ. คน บทความที่ว่า น้ำยาลบคำผิด เนื้อเรื่องเล่าว่า ผู้เขียนบทความได้อ่านงานเขียนต้นฉบับลายมือของนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่ง ที่น่าสนใจในข้อสังเกตคือ ในร่างต้นฉบับลายมือนั้น พบรอยลบรอยขีดฆ่าในส่วนที่ไม่ต้องการนั้นน้อยเต็มที หรือแทบไม่พบเลย

ข้อสังเกตเหล่านี้แสดงให้เห็นอะไร?

การจะเขียนอะไรขึ้นมาเสียอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเรียง เรื่องเล่า จดหมาย-ทั้งทางการและไม่ทางการ หากเราขึ้นตัวหนังสือด้วยคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจออีเมล์แล้วล่ะก็ เราคงไม่พบร่องรอยความผิดพลาด เพราะเราสามารถลบกลบหายได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพบเห็นว่า สิ่งที่เขียนนั้นไม่สอดคล้องกับเนื้อหาความคิดแบบองค์รวม

ผู้ที่สามารถเขียนหนังสือด้วยลายมือโดยที่สามารถเดินเรื่องนับจากเริ่มจนจบความที่ต้องการ นำเสนอได้อย่างสะอาดหมดจด นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนมีความเข้าใจในความคิดของตนเองที่ต้องการนำเสนอ และสามารถเรียบเรียงตัวอักษรเรื่องราวอย่างเป็นชั้นเป็นตอน โดยมิต้องทำการตัดออก หรือเสริมเพิ่มข้อความที่ขาดหายในภายหลัง

เกริ่นนำข้างต้นไว้ถึงเรื่องการเขียนหนังสือด้วยลายมือก็แล้ว จึงอยากจะขอเข้าเรื่องหนังสือที่อยากจะยกขึ้นมาเล่าสู่กัน เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของจดหมาย และเป็นมากกว่าจดหมายเมื่อมันกลายเป็นเรื่องเปิดเผยต่อสายตาผู้อื่น

DSC01197Love Letters : ปรายพันแสง

จัดทำโดย : บริษัท เวิร์พอยท์ พับลิชชิ่ง จำกัด

การพิม์จดหมายต่อสาธารณชน ถือว่าเป็นการโป๊เปลือยอย่างที่สุด นอกจากเนื้อหนังมังสาของเขาเองแล้ว จะไม่มีสิ่งใดปกปิดเขาจาก สายตาโลกได้อีกต่อไป

นักเขียน แสดงตัวตนได้หลายแบบ ตามกลวิธีเขียนที่มีต่างๆ กันมากมาย แต่นักเขียนจดหมาย จะมีตัวตนได้เพียงแบบเดียว คือแบบที่เขาเป็นในจดหมาย…ตลอดไป

อี.บี.ไวท์ หรือ เอลวิน บรูกส์ ไวท์ นักเขียนชาวสหรัฐผู้เขียนเรื่อง Stuart Little (สจ๊วต ลิตเติ้ล) (พ.ศ. 2488) Charlotte’s Web (แมงมุมเพื่อนรัก) (พ.ศ. 2495)

ข้างต้นนั้นคือถ้อยความประโยคแรกก่อนหน้าคำนำหนังสือเล่มนี้  ผู้อ่าน(ผม) นั่งคิดเล่นๆว่า เออ มันก็จริง เมื่อเราเขียนจดหมายถึงใครเสียคน นั่นย่อมต้องเป็นวาระส่วนตัว มีเพียงเรา-เขา เท่านั้นเป็นอันรู้กันเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นจดหมายรักด้วยแล้วละก็ การเปิดเผยความจริงใจนับเป็นกติกามารยาทข้อหนึ่งเลยทีเดียว

Love Letters ทำให้เห็นถึงเสน่ห์ของการเขียนจดหมาย เพราะไม่ว่าเราจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกทางด้านสื่อสารเพียงใดก็ตาม การเขียนจดหมายย่อมให้ความรู้สึกที่แตกต่าง

ส่วนตัวแล้วหากจะนับครั้งสุดท้ายที่เขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองถึงเพื่อนคนหนึ่งนั่นก็นานมากพอควร มันไม่ได้เป็นจดหมายรักอะไรหรอก เป็นจดหมายที่แนบท้ายไปกับวัสดุที่ส่งขึ้นไปเท่านั้นส่วนจดหมายรักนั้น เท่าทีความทรงจำอำนวยเขียนออกไปเมื่อวัยเด็กไม่กี่ฉบับ

ส่วนจดหมายในหนังสือเล่มนี้ ใช่ว่าเป็นจดหมายรักของคนทั่วไป ที่น่าสนใจอ่านคือ เป็นจดหมายรักของคนระดับโลกเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเอาเฉพาะบทหวานๆ เช่น

จดหมายรักของ : ไอน์สไตน์ : ดอลลี่ เขียนถึง จอห์นนี่(ไอน์สไตน์)

ถ้าเธอรักฉันมากพอ เขียนจดหมายถึงฉันนะ ฉันมีความสุขมากกับการอ่านจดหมายน่ารักของเธอ มันเต็มเปี่ยมด้วยความรักสุดซึ้ง แสดงให้ฉันเห็นอีกครั้งเถิดว่า ฉันยังเป็นที่รักของเธออยู่เสมอ คุณพระช่วย kiss ที่ฉันเก็บไว้รอเธอนั้น ช่างหวานนัก ตายละ! นี่ฉันแทบจะรอถึงวันอาทิตย์ไม่ได้เสียแล้ว ทั้งๆที่เหลืออีกแค่สองวันเท่านั้น อ้อ อย่าตืนสายนะคนดี เพราะในเช้าวันอาทิตย์ ฉันคงรอเธอด้วยใจจดจ่อทรมานยิ่ง

ดอลลี่

จดหมายรักของ : ยาขอบ : ห่มผ้าให้สาวนอนดิ้น

ในเวลาดึกและสงัด แม้แต่คนรองน้ำประปากันนอกวัด เวลามันลงปี๊บทีแรก ได้ยินเสียงโกร๊กๆ เข้ามาเช่นนี้ คิดถึงดาในวันนั้น และวันวันที่จะได้ยอดรักฉันมาจริงๆเหลือเกิน เป็นความสัตย์ ไม่ได้คิดด้วยโลกีย์และอารมณ์ของผู้ชายอย่างเดียวเลย ไม่ได้คิดว่าในเวลาเช่นนี้ จะได้กอดดาหรืออย่างอื่น

หากคิดไปถึงว่าในเตียงของเรา ดาอาจนอนดิ้นและผ้าห่มเปิด ยิ่งดึกยิ่งเห็น ฉันก็จะได้จัดคลุมผ้าห่มนอนให้เรียบร้อย ก็จะลุกมานั่งเขียนอย่างนี้ และค่อยๆ ปัดผมที่มาปรกหน้า แล้วปล่อยให้คุณหลับโดยไม่กวน หรือถ้ากวน ก็ต้องอย่างเบาที่สุดที่จะไม่ให้คุณตื่น

ยาขอบ

ดาในภาพวาดของคุณยามดึกนั้น ออกจะน่าเกลียดไม่น้อย มีอย่างที่ไหนคะ นอนดิ้นจนผ้าห่มเปิด นั่นไม่ใช่ดาแน่นอนที่จะนอนดิ้นถึงขนาดนั้น ขอบคุณที่กรุณาห่มผ้าให้เรียบร้อย คุณคงชำนาญงานด้านนี้ไม่น้อย คือห่มผ้าให้ผู้หญิงนอนดิ้น และคงนอนดิ้นจนจนเห็นผ้าห่มเปิดมามากมายทีเดียวใช่ไหมคะ

พนิดา

จดหมายรักของ : มาร์ซิสต์ : เขียนถึงเจนนี่ในปี 1856

ภาพอันมีชีวิตชีวาของคุณที่ปรากฏเบื้องหน้าผมยามนี้ ผมกำลังโอบกอดคุณไว้ในอ้อมแขน จุมพิตคุณตั้งแต่ปลายผมจรดปลายเท้า ผมสยบยอมพร้อมคุกเข่าตรงหน้าคุณ แล้วเอ่ยว่า ผมรักคุณ

ผมต่อสู้เพื่อกรรมาชน แต่ความรักของผมมิใช่ความรักของชนชั้นกรรมาชีพแต่อย่างใด หากแต่เป็นความรักสูงสุด เท่าที่มนุษย์เกิดมาผู้หนึ่งจะพึงรักได้ ความรักที่ผมมีต่อคุณ ทำให้ผู้ชายคนหนึ่งได้กลับมาเป็นผู้ชายอีกครั้งหนึ่ง

ในโลกที่มีผู้หญิงมากมาย ไม่ยากอะไรเลยที่ผมจะมองหาใบหน้าที่สวยสดงดงามของผู้หญิงที่มีอยู่มากหลาย แต่จะมีใบหน้าผู้หญิงคนใดเสมอเหมือนใบหน้าของคุณได้

ผมรักความเหี่ยวย่นที่ปรากฏอยู่บนใบหน้าคุณ เพราะทุกริ้วรอยเหล่านั้น

คือความทรงจำหวานชื่นทั้งหมดแห่งชีวิตผม

มาร์กซ์

สองบรรทัดสุดท้ายผมไม่แน่ใจว่าสาวๆบ้านเราอ่านแล้วจะขย้ำจดหมายเลิฟของคนรักทิ้งหรือเปล่า(รอยย่นที่ปรากฏบนใบหน้าเธอ-โอ่)

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ทำให้นึกอยากจะหยิบกระดาษปากกาขึ้นมาเขียนจดหมายด้วยลายมือเสียสักฉบับ อาจไม่ได้เป็นจดหมายรัก แต่อาจเขียนหาใครสักคน พ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูง เขียนด้วยความรักคิดถึง ด้วยความหวังดี จากนั้นใส่ซองติดตราอากรแสตมป์ หย่อนลงตู้ไปรษณีย์สีแดงหน้าหมู่บ้าน  เฝ้ารอคอยว่าจดหมายจะเดินทางไปถึงวันไหน? ตอนเขาเปิดอ่านเขาจะรู้สึกอย่างไร แล้วเฝ้าคอยมองกล่องจดหมายหน้าบ้านว่าจะมีจดหมายตอบกลับมาหรือเปล่า

แล้วจากนั้นเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น

“เออ.. เขียนจดหมายมามีไรเปล่าวะ?”

ผู้โทรมาไม่ได้รู้เลยว่าได้ทำร้ายจิตใจเจ้าของจดหมายอย่างแสนสาหัส(ฮ๊วย!!!)

 

re02-02 จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม ; กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

รวมจดหมายจากนักเขียนถึงนักเขียน

สำนักพิมพ์ :

หนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผู้อ่านชื่นชอบ ซึ่งหากใครเคยประทับใจและชุ่มชื่นใจกับบรรยากาศของ”บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร”มาแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ผู้เขียนลงรายละเอียดลึกไปในเรื่องราว ที่มีต่องานเขียน ที่มีต่อหนังสือที่อ่าน และที่มีต่อนักเขียนหนุ่มด้วยกัน เหมือนจดหมายที่พี่ชายเขียนถึงน้องชายที่เป็นนักเขียนเหมือนกัน

จดหมายทุกฉบับนั้นเต็มล้นด้วความตั้งใจ หวังดี และมีแง่คิดต่างๆต่อสังคมต่อวรรณกรรม ต่อผู้คนในวงการวรรณกรรม  นั่นจึงทำให้จดหมายของ กนกพงศ์ หาได้เป็นเพียงจดหมาย หากแต่เป็น หมายเหตุของเวลาขณะนั้น และเป็นวรรณกรรมที่ควรค่าต่อการเรียนรู้ครุ่นคิดไปตามเนื้อความที่บันทึกไว้

บางส่วนบางตอนในหนังสือ

๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ / จดหมายถึงขจรฤทธิ์

คนเรานี้เองคือผู้สร้างกระแส หากเรายังคงทำงานกันอยู่ผมก็เชื่ออย่างยิ่งว่างานยอมไปเปิดที่ทางของมันเอง แต่ดูเหมือนที่ผ่านมาเราจะประมาทมันเกินไป ความจริงเขา(อะไรสักอย่าง) ก็ให้เวลาสำหรับวรรณกรรมแนวพวกเราพิสูจน์ตัวเองพอสมควร อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ หากเทียบกับการผันเปลี่ยนของอะไรแต่ละอย่างในยุคนี้ แต่พวกเราไม่มีความต่อเนื้องกันเอง นับแต่รุ่นพี่ชาติ พี่ลอง แล้วที่พวกเราได้ลงหลักปักฐานมั่นคงเสียที

กระทั่งมาถึงรุ่นผมรุ่นคุณ เราก็ยังเอ้อระเหยกันอยู่ แล้ววันนี้เป็นไง? โจทย์มันเลยยิ่งยากขึ้น เมื่อเราต้องไปต่อสู้กับกระแสใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้าน เราต้องเอาคนอ่านให้อยู่ คนอ่านซึ่งผลัดรุ่นไปแล้ว เราจึงมิได้ต่อสู้แค่เพียงการเขียนงานที่ดีเท่านั้นแต่ต้องเป็นดีที่สุด เพื่อมีน้ำหนักมากพอจะไปคานกับโจทย์ใหม่ นี่ยิ่งเป็นเรื่องยากกว่าเมื่อห้าปีสิบปีก่อนเยอะ ผมรู้สึกได้เช่นนี้

๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๖/ จดหมายถึงขวัญยืน

ในสถานที่อื่น ซึ่งแวดล้อมอยู่ด้วยสิ่งที่มนุษย์สร้างหรือปรุงแต่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนานมธรรมหรือรูปธรรม ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากมากที่คนเราจะรู้สึก สำนึก หรือตระหนักถึงการเป็นชีวิตที่แท้ มันเหมือนม่านบางๆมาคั่นสายตา แต่มันก็เป็นกำแพงหนาพอที่แม้แต่"ใจ"ของคนก็ไม่อาจแทรกผ่านไปได้ คนเราจึงมีชีวิตหลงวงอยู่ในพื้นที่แคบๆ ระหว่างตัวเราเองกับกำแพงนั้น ในที่แคบนั้น อากาศย่อมน้อยนิด นั่นเองที่เรารู้สึกอึดอัด ข้อสำคัญที่ว่า เราไม่รู้ว่าอึดอัดอยู่กับอะไร เพราะเรามองไม่เห็นกำแพงที่ตั้งตระหง่านอยู่ที่ปลายขนตาของเรา

ผมมองเห็นเขาหลวงทุกวัน หน้าบ้านมีจุดหนึ่งให้มองเห็นเขาหลวงทั้งเทือก เห็นยอดเขาซึ่งตระหง่านอยู่ในเมฆ น่าแปลกเหลือเกิน เมื่อเรามองออกไปไกลเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเห็นลึกลงไปในตัวเราเท่านั้น เหมือนกับว่าระยะทางจากปลายขนตาเราไปถึงยอดเขา คือระยะทางจากผิวหนังของเราลึกลงไปในใจที่เราหยั่งถึง ส่วนที่หยั่งไม่ถึงอีกเล่า? ลึกลงไปเท่าไหร่?

๒๖ กันยายน ๒๕๔๖/ จดหมายถึงขวัญยืน

ขวัญยืนครับ เมื่อถึงวันนี้ จากสมมุติฐานเช่นนั้น ผมยิ่งเชื่อมั่นเมื่อเห็นชัดขึ้นว่า เราได้เคลื่อนไหวไปด้วยความเร็ว ตามการพัฒนาด้านนี้ของวิทยาศาสตร์ และได้นำเรามาสู่ความอับจนบางอย่าง

ในสังคมเกษตรกรรม วงรอบของการผลิต / วิถีผลิตนั้นช้า เคลื่อนไหวช้า ด้วยต้องรอ "ชีวิต" ผลิบานรอหน่องอกจากเมล็ด รอการเติบโต ออกดอก ออกผล และรอผลสุก เราต้องรอ เราจึงเดินทางเร็วไม่ได้ การต้องรอและเดินทางช้านั่นละครับ ที่ทำให้คนเรามี "เวลา" มากมาย พอที่จะชื่นชมดอกไม้บาน พอที่จะหาเรื่องสนุกใส่ตัว ผมอยากพูดด้วยซ้ำว่า คนเมื่อก่อนเขามีสุนทรียะอย่างยิ่ง คิดค้นเสกสรรศิลปะตั้งมากมาย นั่นเพราะวิถีของเขา วิถีของการรอ!

๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ / จดหมายถึงจรรยา

หนังสือเล่มเดียวส่งผลต่อชีวิตคนเราได้จริงๆ ผมเชื่อ เพราะการอ่านคือการเสวนากับความคิดของเราเอง โดยทัศนะของคนเขียนเป็นเพียงตัวผ่านหรือตัวสื่อ ผมประทับใจจรรยาที่อ่านหนังสือ เหมือนที่ประทับใจเด็กๆของหมู่บ้าน และเมื่อไหร่ที่เราอ่านหนังสือดี ผมเชื่อย่างยิ่งว่าคนคนนั้นจะมีสติกับชีวิต เขาไม่ทำอะไรร้ายๆหรอก เขาจะคิดแต่เรื่องดีๆ ทำแต่สิ่งดีๆ หนังสือที่ดีกล่อมเกลาเขา

ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการศึกษาระดับใดทั้งสิ้น คนเราสามารถเข้าใจชีวิตได้ทุกคน หากเขาอยากเป็น

 

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ประโยคหนึ่งเกิดขึ้นในความคิดผม “มากกว่าที่จะเป็นจดหมาย” เพราะนี่หาใส่เป็นเพียงการส่งข่าวสารต่อกันและกัน หากแต่เป็นวรรณกรรมชนิดหนึ่งที่อ่านแล้วได้รส และได้คิด  มันทำให้นึกเลยไปถึงอีกเรื่องหนึ่งคือ คำว่า “มากกว่าวรรณกรรม” ประโยคนี้ทำให้นึกถึงเรื่องของเจ้าชายน้อย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

 

เพื่อร่วมงานคนหนึ่งของผม ซึ่งนานเหลือเกินจะเจอะเจอเสียหนึ่งคน ที่ชอบอ่านหนังสือจำพวกวรรณกรรม เมื่อเอ่ยถึงเจ้าชายน้อย เขาก็จะมีเรื่องเล่าต่างๆเกี่ยวกับเหล่าสาวกหนังสือเล่มนี้ “มันเหมือนเป็นศาสดาทางจิตวิญญาณ” เขาว่าถึงขนาดนั้น(โอ่)

เรื่องแบบนี้ผมเองก็เห็นด้วยหลายส่วน เท่าที่นึกได้เกี่ยวกับตัวหนังสือที่เป็นมากกว่าหยดหมึกที่ประทับบนกระดาษก็เห็นจะมี เทพกวนอูที่ผู้คนพากันกราบไหว้ขอพรซึ่งถือกำเนิดจากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ สามก๊ก โดยวรรณกรรมเรื่องนี้เริ่มต้นจากการเป็นจดหมายเหตุ แต่งโดย เฉินโซ่ว ภายหลังต่อมาได้มีการนำมาผูกเรียงเรื่องราวจนเป็นนิยายวรรณกรรม โดย หลอ-กว้านจง (เป็นปราชญ์และนักประพันธ์ชาวจีน มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 14 (ค.ศ. 1330-ค.ศ. 1400) หรือยุคปลายของราชวงศ์หยวน ต่อถึงต้นราชวงศ์หมิง) กลายเป็นวรรณกรรมอมตะอีกเรื่องหนึ่งของโลกเลยทีเดียว(แต่เราไม่ค่อยกล่าวถึงคนเขียนเลย)

ไม่ต่างอะไรกับเรื่องราวของ”ผู้ชนะสิบทิศ”ของยาขอบ ที่ใช้เรื่องราวในประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่บรรทัด เรียงร้อยออกมาเป็นวรรณกรรมขนาดยาวและงดงามด้วยวรรณศิลป์ หากแต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขามีศาลเจ้าของจะเด็ดหรือเปล่า(อืม)

ไหนจะเทพลิงเห้งเจีย ในเรื่อง ไซอิ๋ว ซึ่งแต่งขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1590 ในช่วงของราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงการเดินทางไปอัญเชิญคัมภีร์ พระพุทธศาสนา ของพระถังซำจั๋ง และเหล่าลูกศิษย์อมนุษย์ทั้งหลาย อันเปรียบเทียบได้กับจิตใจภาคต่างๆของผู้คน วรรณกรรมเรื่องนี้ก็อีกเช่นกันที่ตัวแสดงมีอำนาจมากมายจนไม่มีใครได้นึกถึงว่าใครเป็นคนประพันธ์

อู๋เฉิงเอิน หากยังมีชีวิตอยู่จะรู้สึกอย่างไรนะ ถ้าวันหนึ่งเขาเดินเล่นไปในทางเท้าข้างร้านค้าตลาดชาวไทยเชื้อสายจีน พบเจอตัวละครที่เขาเสกสรรไว้ ยื่นนิ่งตรงแท่นบูชา มีคนมาคารวะกราบขอพร

ความรู้สึกของอองตวน เดอ แซงเต็ก-ซูเปรี  ก็คงคล้ายเคียงกัน

 

DSC01195WARTIM WRITINGS 1939-1944

By ANTOINE DE SAINT-EXUPERY

บันทึกแห่งจิตวิญญาณ : แซงเต็ก ซูเปรี เขียน

บันทึกเร่งด่วน.. ของโลกที่ร้อนระอุและจิตวิญญาณที่ปวดร้าว

ศักดิ์ บวร : แปล

สำนักพิมพ์ สมิต 2005

 

เมื่อเอ่ยชื่อของ อองตวน เดอ แซงเต็ก-ซูเปรี นักอ่านย่อมนึกถึงภาพของ ‘เจ้าชายน้อย’ เรื่องราวการเดินทางของเจ้าชายไปยังดวงดาวต่างๆ พบนักภูมิศาสตร์ที่นั่งจมอยู่กับข้อมูล นักปกครองที่ต้องการเพียงอำนาจ นักธุรกิจที่เอาเวลาทั้งชีวิตนับดวงดาว และดอกไม้ช่างพูด

เจ้าชายน้อย ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1943 อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี นักเขียนและนักบินชาวฝรั่งเศส เขียนงานเขียนชิ้นนี้ขณะพำนักอยู่ที่นิวยอร์ก หลังจากนั้นในปีค.ศ. 1994 เขาได้รับภารกิจให้ออกบินลาดตระเวนน่านฟ้าเหนือเมืองอังเนอซี

และ-นั่นเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของ อองตวน เดอ แซงเต็ก-ซูเปรี  แล้ว-บันทึกที่เร่งด่วน.. ของโลกที่ร้อนระอุมีความหมายว่าอย่างไรในหนังสือเล่มนี้?

ภายหลังการจากไปของผู้เขียนเจ้าชายน้อย ได้มีการรวบรวม ข้อเขียนบันทึก จดหมาย และบทความอื่นๆที่ แซงเต็กได้เหลือทิ้งไว้บนกระดาษ มันคล้ายเป็นคำพยาการณ์ และในอีกมุมหนึ่ง คล้ายเป็นแนวแสงนำทางสู่ปรัชญาแนวคิดในแบบแซงเต็ก ในห้วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นและกำลังดำเนินไป

เป็นจดหมายบันทึกที่อ่านแล้วรู้สึกขมลึกๆ โลกที่ร้อนระอุของแซงเต็กคงหมายถึงความร้อนรุมของไฟสงคราม การได้เข้าร่วมภาระกิจการบินในสงครามของเขา ทำให้เขาพบเจอ และเก็บเกี่ยวแง่คิดมากมาย ทั้งในทางการเมือง และชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบ

แซงเต็กเขียนถึงคนไม่กี่คน มารดาของเขา มร.เอ๊กซ์(ผู้ที่ไม่ประสงค์ให้เอ่ยนาม) ในแต่ละฉบับนั้นมีเรื่องราวและคมคิดของแซงเต็กเกี่ยวกับสงครามเสมอ จึงอยากจะขอยกมาให้อ่านบางส่วนในแต่ละหมวดข้อคิด

ระหว่างสงคราม

ประเทศเยอรมัน ครั้งหนึ่งผมเคยถาม ลาฟาเรฟว่า

อะไรทำให้ฮิตเลอร์ประทับใจในตัวแชมเบอร์เลน(โจเซฟ แชมเบอร์เลน นักการเมืองสำคัญคนหนึ่งในอังกฤษ เป็นนักปฏิรูปสังคม) ซึ่งติดต่อกับเขาเมื่อเร็วๆนี้ “ความยิ่งใหญ่” เขาตอบเรียบๆ นั่นเป็นคำตอบที่คาดหวังได้มาก่อนแล้ว แต่หากคุณมาอยู่ตรงหน้าเบิร์กสันกับแอตติลลา คุณจะไม่สงสัยเลยว่าทำไมแอตติลลาจึงทำให้เบิร์กสันตกตะลึง เพราะในส่วนของเบิร์กสัน เขาไม่มีอะไรที่จะสามารถทำให้แอตติลลาประทับใจในตัวเขาได้เลย

กะลาสีเรือขี้เมามักทำเสียงดังมากกว่านักปราชญ์ ทำนองเดียวกัน พวกเอสเอสก็ชอบซุกนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างใต้เข็มขัด แล้วเดินไปเดินมา สลับกับการก้มมองนักฟิสิกส์ที่กำลังขัดโถส้วมอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวประหนึ่งอากัปกิริยาของเขาจะสามารถสร้างความตกตะลึงให้แก่นักฟิสิกส์ได้

เขียนถึง เลวิส กาลังติเยร์ : มกราคม 1942

ถ้าผมเขียน

ผมต้องถามตัวเองว่า พวกเขาจะคิดยังไงกับหนังสือของผม? มันจะมีชะตากรรมยังไงในอีกสิบปีข้างหน้า ไม่ใช่ให้มันเป็นหนังสือที่คนตาเหล่กับคนที่ปัญญาแค่ทารกมาแสดงความเห็นในวันที่ 22 กุมพาพันธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยใส่ใจแม้แต่นิดเดียว ผมไม่เคยสนใจเลยแม้แต่น้อยว่าบทกวี ที่ผมเขียนจะมีใครชอบและมีใครอ่าน หรือมีใครได้ยินหลังจากสี่สิบปีหลังจากที่ผมตายไปแล้วหรือไม่ เพราะสำหรับผม ดูเหมือนว่า ภาพลักษณ์ของนักกวีที่ผู้คนมองด้วยสายตาผิดๆ เนื่องจากขาดความเข้าใจเรื่องอยุติธรรมของมนุษย์ และไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ จนกว่าเวลาจะผ่านไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งร้อยปี

เป็นการแสดงความเห็นใจที่ปัญญาอ่อนที่สุด เพราะถ้าเป็นผม ผมจะไม่ร้องไห้ให้แก่ปลาไหลที่วางไข่อยู่ในทะเลซากาซโซและจะไม่รับรู้ในเรื่องลูกๆของมันด้วย

ผมไม่สนใจว่าหนังสือของผมจะเป็นหนังสือที่ดีหรือมีคนอ่านในวันหนึ่งข้างหน้าหรือไม่ เพราะที่ผมสนใจก็คือหากมันเป็นหนังสือที่ไร้คุณค่า ผมก็ขอให้มันเป็นหัวข้อที่ต้องสนใจถกกันในตอนนี้ หลังจากนั้นผมก็ไม่ใส่ใจว่าจะมีใครอ่านหรือไม่อีกเลย

ปัญหาเดียวที่ผมมีตอนนี้คือเรื่องเงิน ตอนนี้ผมจำเป็นต้องใช้เงิน ผมจำเป็นต้องใช้เงินมาก และรู้สึกปลาบปลื้มยินดีหากได้รับ แต่ผมก็ไม่สามารถรวมทั้งสองประเด็นให้เข้าหากันแบบจับแพะชนแกะได้ เพราะผมมีปมเขื่องเพียงสองรูปแบบ และหนึ่งในสองรูปแบบนั้นมีความหมายยิ่งใหญ่มากกว่าอีกรูปแบบหนึ่ง แน่นอน ผมไม่สามารถซื้อหาอะไรได้ด้วยเงินที่ได้รับมาด้วยความพอใจมากกว่าการพูดถึงในด้านของความหมายที่แท้จริงของมัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผมแสดงตัวตนในทิศทางแย่ๆ เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน ผมจะถือว่า ตัวเองไม่ได้รับใช้ประชาชนอย่างที่ควรเป็น

สรุปคือ- ผมพอใจขายหนังสือเพียงหนึ่งร้อยเล่มโดยที่ผมไม่รู้สึกอาย มากกว่าขายหนังสือแย่ๆ ได้หกล้านเล่ม

เกี่ยวกับนักตรรกศาสตร์ : 1 สิงหาคม 1939

ฌ็อง-มารี ก็องตี บรรณาธิการวารสาร ‘ด็อคคิวเมนต์’ วารสารเกี่ยวกับนักบินทดสอบได้นำงานเขียนของแซงเต็กไปตีพิมพ์

เนื้อความบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นักทฤษฎีเชื่อมั่นในหลักตรรกศาสตร์ เขาก็เชื่อมั่นว่าตนเกลียดชังหรือดูหมิ่นความฝัน แรงบันดาลใจและบทกวี โดยไม่ได้ตระหนักว่าปัจจัยทางด้านเทพนิยายทั้งสามดังกล่าวข้างต้นมีติดตัวเข้ามาตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นสิ่งช่วยพัฒนาความคิด จนเขาสามารถค้นพบสิ่งมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ในรูปแบบของ ‘การทำงานบนข้อสมมุติฐาน’ บนสภาพเงื่อนไขของการประนีประนอม และในรูปแบบของการเปรียบเทียบ ในเวลาต่อมา

ดังนั้น การที่นักทฤษฎีออกมาบอกวา ตนประสบความสำเร็จก็เพราะมุ่งมั่นกับการทำงานบนหลักเหตุผลเพียงประการเดียว ก็เท่ากับเขากำลังหลอกลวงหลักของการโต้แย้งด้วยเหตุผล เพราะหากเขายอมฟังหลักเหตุผลนั่นก็แสดงว่า เขากำลังฟังเสียงดนตรีจากเทพธิดามูส .. เสียงเพลงที่กระตุ้นให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการค้นหา จนนำไปสู่ความสำเร็จ

ที่คล้ายคำทำนายหลังสงครามสิ้นสุด

“เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง วิถีชีวิตของพวกเราจะไถลออกจากเส้นทาง ถึงตอนนั้น จอมปลวกมนุษย์จะอุดมสมบูรณ์ ยิ่งกว่าครั้งใดๆในอดีต นั่นคือ มนุษย์จะร่ำรวยขึ้นและมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น แต่เรายังคงขาดสาระสำคัญของชีวิต.. เราจะมีความเป็นมนุษย์น้อยลงและจะสูญเสียสิทธิพิเศษหรืออำนาจลี้ลับในตัวโดยสิ้นเชิง”

เขียนถึงมารดา : บอร์โดซ์ มิถุนายน 1940

ถึงแม่สุดที่รัก

เรากำลังเดินทางไปอัลเจียร์ ผมรักและอยากกอดแม่ หลังจากจดหมายฉบับนี้แล้ว อย่าคาดหวังว่าจะได้รับจดหมายจากผมอีก เพราะมันคงเป็นไปได้ยากมาก แต่ผมอยากให้แม่จำไว้ว่าผมรักแม่มากที่สุด

อองตวน

 

ผมยังอ่านเล่มนี้ไม่จบ เพราะค่อยๆบรรจงอ่านบรรจงคิดทีละบรรทัดๆ หากแต่ชื่นชมงานเขียนของอองตวนก็อีตรงที่ว่า ภาษาที่ใช้นั้น ตรงๆชัดเจนไม่ต้องอ้อมค้อมพรรณาเสียเวลา สมแล้วที่เป็น

บันทึกเร่งด่วน.. ของโลกที่ร้อนระอุและจิตวิญญาณปวดร้าว

 

DSC01196 Mailbox : โตมร ศุขปรีชา

สำนักพิมพ์ : openbook

เราอาจสามารถเขียนจดหมายถึงใครก็ได้ที่เรารู้จักและใครคนนั้นรู้จักเรา ส่วนจดหมายนั้นจะได้รับการตอบกลับหรือไม่ นั่นก็เป็นอีกเรื่อง

จดหมายที่คุณโตมรเขียนถึงใครหลายๆคน บ้างก็มีคนที่ผมรู้จัก บ้างก็เป็นคนที่ผมไม่รู้จักแต่มีชื่อเสียงในโลกของเขา อ่านเล่มนี้แล้ว ภาพของใครหลายคนที่ผมอยากจะเขียนหาก็ปรากฏขึ้นมารำไร

อืมม์-มันไม่ง่ายเลยที่จะเขียนอะไรบางอย่างถึงคนเด่นดังในทำนองตำหนิติติง นึกถึงคำนำในหนังสือของปราบดา เล่ม ‘กระทบไหล่เขา’ ว่าสาเหตุที่เขาไม่เขียนเกี่ยวกับคนไทยเลย เพราะ เรายังเป็นสังคมที่รับไม่ค่อยได้กับคำวิจารณ์ ซึ่งบางครั้งก็อาจมีขบกัดบ้างเล็กน้อยพอน่ารัก (เอาไว้วันหลังจะนำมาเล่า ของเขาขำได้ใจจริงๆ) แต่ก็นั่นล่ะ ในปริมาณที่เท่ากัน ต่างคนก็ต่างความคิด ที่น้อยอาจมากไปในความคิดหนึ่งก็เป็นได้

mailbox เขียนจดหมายถึงใครหลายคน โดยไม่ได้หวังให้คนที่รับจดหมายตอบกลับ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบกลับได้ ซึ่งเอากันตามเนื้อหาจริงของหนังสือเล่มนี้ ออกจะสื่อสารเรื่องราวในเชิงชีวประวัติมากกว่า หากแต่ร้อยเรียงภาษาอย่างคนเขียนจดหมายถึงกัน นับเป็นงานเขียนที่เปิดมุมมองและเสริมองค์ความรู้ทางด้านบุคคลของโลกอีกชิ้นหนึ่ง

เขียนถึง แคโรล

บางตอน : งานชิ้นต่อมาที่คุณทำ ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะคุณจับเอาประเด็นที่พวกนักเรียกร้องสิทธิสตรี(ซึ่งหลายคนเรียกตัวเองว่า เฟมินิสต์-โดยไม่เข้าใจความหมายของคำนี้อย่างแท้จริง) เป็นเดือดเป็นแค้นอย่างเรื่องหนังโป๊หรือสื่อลามกที่เรียกว่า pornography มาผนวกรวมกับ เฟมินิสต์ แล้วสร้างออกมาเป็นหนังโป๊ที่เรียกว่า Feminist Porm ซึ่งต่อมากลายเป็นสกุลหนังสกุลใหม่ ที่ไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน

หนังแนวเฟมินิสต์เรื่องแรกที่คุณร่วมกำกับด้วยคือ เรื่อง Annie Sprinkle’Her Story of Porn PME073406 ซึ่งฉายครั้งแรกที่เทศการหนังซานตาบาร์บารา ก่อนสร้างหนังเฟมินิสต์พอร์นออกมาอีกหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งคือ Blind Eye to Justice : HIV+Women in CaliFornia Prisons ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวกับเอดส์และนักโทษสาวในคุก ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยม ที่เทศการหนัง Black Internationnal Cinema ที่กรังเบอร์ลินด้วย

ผมไม่รู้ว่าคุณเอาเรี่ยวแรงจากไหนมาทำงาน แต่ผมเข้าใจเอาเองว่า คุณคงใช้ชีวิตของตัวเองเป็นเหมือนงานศิลปะจัดวางชิ้นหนึ่ง คุณทำทุกอย่างเพื่อต่อต้านกับแรงกดดันทางการเมือง คุณพยายามใช้ชีวิตเพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นและรู้ถึงประเด็นการต่อสู้ของคุณ คุณไม่ได้เพียงแต่พูดหรือเขียนหรือแสดงหรือทำหนัง แต่คุณใช้ชีวิตแบบกระหรี่ และภูมิใจที่จะบอกใครต่อใครว่าคุณเป็นกระหรี่ และเป็นกระหรี่ที่เป็นกวี เป็นนักทำหนัง เป็นนักแสดง เป็นศิลปิน เป็นนักต่อสู้ทางการเมือง ทว่าก็ยังเป็นกระหรี่

ผมรักความกล้าหาญของคุณเหลือเกินครับ แคโรล มีบ่อยครั้งที่ผมอยากเดินออกไปจากชีวิตของตัวเอง ไปถึงขั้นที่เหมือนคุณและเพื่อนๆของคุณทำและเคยทำหรอกครับ เพียงเดินออกไปเท่านั้นผมก็ไม่กล้าเสียแล้ว

ผมขี้ขลาดเกินไปใช่ไหมครับ แคโรล คงเพราะเหตุนี้เอง ผมจึงรักความกล้าหาญของคุณ

ขอบคุณการใช้ชีวิตของคุณครับ

จากผม คนขลาดกลัวธรรมดาๆคนหนึ่ง

 

จดหมายหลายฉบับชื่นชม จดหมายหลายฉบับต่อว่า นั่นก็นับว่าเป็นความกล้าชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนแสดงออกมา เขียนถึงอีที คนขับรถตู้ คนขับแท็กซี่ ถึงวงบอยแบนด์แห่งรัฐคะฉิ่น’พลัสทรี’ ใครต่อใครอีกมากมายในเล่ม

จะว่าไปแล้ว ลองเป็นเรา เราจะเขียนถึงใครดีนะ? เขียนถึงโกวเล้ง เขียนถึงลิ้มคิมฮวง อาฮุย หรือ…ดี

โดยรวมแล้ว การเขียนจดหมายหรือจดบันทึกไม่ว่าด้วยดินสอ ปากกา บนกระดาษหรือฝาห้องน้ำ มันก็เป็นการปลดปล่อยสิ่งเร้นภายในของผู้เขียนออกมา งานเขียนจดหมายอาจแสดงออกถึงตัวตนแท้จริงมากกว่างานเขียนบทความ นิยายเรื่องเล่า ด้วยเพราะผ่านการขัดเกลาให้เข้ากับจริตสังคมในระดับหนึ่ง แต่บันทึกส่วนตัวหรือจดหมายปิดผนึกนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งความเป็นส่วนตัวทำให้เราปลดปล่อยตัวตนแท้จริงออกมา

จนกว่าจะมีใครเอาตัวตนของเราออกเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อถึงตอนนั้น

มันก็เป็นอีกเรื่อง…

 

คำคมส่งท้าย

“ผมพอใจขายหนังสือเพียงหนึ่งร้อยเล่มโดยที่ผมไม่รู้สึกอาย มากกว่าขายหนังสือแย่ๆ ได้หกล้านเล่ม”

อองตวน เดอ แซงเต็ก-ซูเปรี

One Response to bookreview : มากกว่าจดหมาย

  1. โอ..ท่านใช้เวลาตอนไหนเขียนกันเนี่ย!?
    ไยถึงได้หลั่งไหลมากมายปานท่อประปาถูกรถทับทลายกระนี้

    ทั้งยังเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซที่กระทบไหล่พวกบนแผงอย่างสูสีไม่แพ้ผีที่กะลังจะรับการมาเยือนของเดอะค๊อป

    นับถือ..นับถือ..

ใส่ความเห็น