bookreview : เอ็ดเวิร์ด ทูเลน และ คน(ไม่)สำคัญ

 

DSC01204 DSC01202

เอ็ดเวิร์ด ทูเลน : ตามหาหัวใจไกลสุดฟ้า

the Miraculous Journey of Edward Tulane

เคท ดิคามิลโล : เขียน : ปี คศ. 2006

คน(ไม่)สำคัญ : เรื่องราว ๑๑ คน(ไม่)สำคัญที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญระดับโลก

สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน

สำนักพิมพ์ : openbooks

– ภาษาต้องสะท้อนความกลมกลืนของเสียงดนตรี นักเขียนต้องค้นหาคำพิเศษ เพื่อสื่อความหมายอยู่ตลอดเวลา และสามารถดึงเอาเสียงสะอื้นออกมาจากจิตวิญญาณได้ ถ้อยคำอาจแปรเปลี่ยนไปเป็นสี แสง และกลิ่น งานของนักเขียนก็คือ ‘ใช้’ มันสื่อความหมายให้ได้อย่างไม่ผิดพลาด และไม่ถูกมองข้าม

นักเขียนต้องสามารถรู้สึกสนุก และโลดเล่นไปในความอุดมดื่นของถ้อยคำ เขาไม่เพียงแต่รู้ความหมาย โดยตรงของมัน แต่ต้องรู้ไปถึงพลังลึกลับของมันด้วย ในคำคำหนึ่งนั้น มันมีน้ำเสียงและความหมายแฝงอยู่ รวมทั้งความหมายที่กังวานคลอไปกับมันด้วย –

คนุท แฮมซุน

DSC01204

เอ็ดเวิร์ด ทูเลน : ตามหาหัวใจไกลสุดฟ้า

the Miraculous Journey of Edward Tulane

เคท ดิคามิลโล : เขียน : ปี คศ. 2006

งามพรรณ เวชชาชีวะ : แปล

บักแกรม อิบาทูลลิน : ภาพประกอบ

สำนักพิมพ์ : เพ็ทแอนด์โฮม

 

นานมาแล้ว (จดจำปีไม่ได้) ที่ข้าพเจ้ามีความสงสัยอย่างร้ายกาจ เกี่ยวกับภาพตัวการ์ตูนภาพหนึ่ง ภาพนั้นเป็นภาพกระต่ายตัวขาวแต่งตัวด้วยชุดผ้าอาภรณ์ที่เหมือนผู้คน และที่สะดุตาทุกครั้งที่เห็นคือ จะมีนาฬิกาเรือนหนึ่งผูกร้อยติดตัวไปเสมอ

7934_1

นั่นเป็นความสงสัยเล็กน้อย แต่ก็เพียงพอให้เกิดอาการอยากตามหาเรื่องราวของเจ้ากระต่ายที่พกพานาฬิกาตัวนั้นมาอ่าน ต่อเมื่อมาเจอหนังสือเล่มนี้ที่แผงหนังสือจึงไม่ลังเลใจในการหยิบขึ้นมาเปิดอ่านดูเนื้อหาภายใน 

“แขนทำด้วยกระเบื้อง ขาทำด้วยกระเบื้อง เท้าทำด้วยกระเบื้อง และจมูกทำด้วยกระเบื้อง ส่วนแขนและขามีข้อต่อที่ใช้ลวดเชื่อมกันไว้เพื่อให้ศอกและเข่างอได้  ทำให้กระต่ายเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีมากทีเดียว”

เอ็ดเวิร์ด ทูเลน เป็นเรื่องราวการเดินทางของกระต่ายกระเบื้องตัวหนึ่ง ซึ่งการจะเรียกว่ามัน ‘เดินทาง’ นั้นก็เรียกได้ไม่สะดวกนัก ตามความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว เอ็ดเวิร์ด ถูกคนเขียน (ผู้แต่ง) จงใจผูกเรื่องให้เอ็ดเวิร์ดพลัดตก ดิ่งลึกลงใต้ทะเล และอำนวยให้กระแสคลื่นสีครามได้พัดพากระต่ายกระเบื้องตัวนั้น ไปยังสถานที่ต่างๆ ได้พบเจอผู้คนมากมาย ได้เฝ้ามองครุ่นคิดและเกิดความรู้สึกสำนึกบางสิ่งบางอย่างได้

ประเด็นเนื้อหานั้นข้าพเจ้าไม่ขอเอ่ยถึง ด้วยเกรงว่าจะเสียรสชาติของหนังสือไปเปล่าๆ ที่ข้าพเจ้าชอบและเห็นว่าน่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ เห็นจะเป็น รูปแบบวิธีการเล่าเรื่อง โดยมีเจ้ากระต่ายกระเบื้องเป็นสื่อกลาง เป็นดวงตาให้กับผู้อ่านได้เฝ้ามองชีวิตของผู้คน ความเศร้าเปลี่ยวเหงาของชายหญิงชราผู้ขาดแคลนความรักจากลูก ความสุขอันเรียบง่ายของชายพเนจร และภาพเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ของพี่น้องหญิงชายคู่หนึ่ง

ทว่าเอ็ดเวิร์ดกลับทำได้เพียงเฝ้ามองด้วยดวงตาที่เขียนด้วยสีฟ้า เหมือนมองทะลุใจคน มีเพียงความนิ่งไม่อาจขยับเคลื่อนไหวและความครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นที่ดำเนินเรื่องราวไป

เป็นหนึ่งในอีกหลายเล่มที่ข้าพเจ้าสามารถติดตามอ่านรวดเดียวจนจบเล่มได้โดยมิพักสายตาจากเล่ม โดยส่วนที่อำนวยให้เป็นแบบนั้นก็อาจเพราะ การใช้ภาษาเรียบง่าย และเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เรียงลำดับแบบนับหนึ่งถึงสิบ ทว่าแก่นสาระของเรื่องนั้นกระตุ้นความคิดของผู้อ่านให้เริ่มมองสำรวจตัวเองแล้วว่า

เราเป็นอย่างเช่นเอ็ดเวิร์ดหรือเปล่า?

เปล่าตรงที่ว่า เราสามารถพูดได้ เคลื่อนไหวได้ และสื่อสารตอบโต้กันได้ และในเรื่องความสำคัญตัวเองเล่า เราทุกคนมีบ้างหรือไม่ ความสำคัญตัวเองเนื่องด้วยรูปกายภายนอกที่ทำให้เราคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องมอบความรักให้ใคร เพียงเพราะมีคนคอยให้ความรักเราตลอดเวลา ใครๆก็หลงรักความงดงามน่ารักของกระต่ายกระเบื้องงั้นสิ

เจ้าของคนแรกของเอ็ดเวิร์ดคงมอบความรักให้เอ็ดเวิร์ดมากเกินไปจนเอ็ดเวิร์ดไม่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของความรัก ตราบเมื่อเขาได้ต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นเมื่อไร เขาจึงได้เริ่มที่จะเรียนรู้ว่า

ทำไม? โลกนี้จึงต้องมีความรักต่อกัน ความรักที่ถูกขีดเส้นใต้ตรงความเป็นเจ้าของ หรือความรักอันบริสุทธิ์ ที่ต้องการมอบให้โดยมิหวังสิ่งตอบแทน เหมือนกับที่เมื่อเอ็ดเวิร์ดเริ่มที่จะเรียนรู้ถึงความรักและเข้าใจมัน เมื่อนั้น เขาจึงได้ในสิ่งที่เขาพลัดพรากกลับมา

โดยที่เขาเป็นกระต่ายกระเบื้องที่เดินทางไปไหนต่อไหนด้วยการพัดนำพาของโชคชะตาที่วาดเขียนจากปลายปากกาของผู้แต่ง

เอ็ดเวิร์ด ทูเลน กระต่ายกระเบื้องที่เดินทางเพื่อเรียนรู้คุณค่าของหัวใจ…

หมายเหตุ (ส่วนตัวไม่เกี่ยวกับต้นฉบับครับ) : มีข้อหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกตะขิดตะขวงใจเล็กน้อยเกี่ยวกับคำนำหนังสือเล่มนี้ อาจเป็นอารมณ์ส่วนตัวที่ไม่น่าเอามาเป็นเรื่อง ทว่าอดไม่ได้เหมือนกันจึงขอยกเรื่องนี้ขึ้นมาแปะไว้

เชื่อว่ามีบ่อยครั้งที่เมื่ออ่านงานเขียนชิ้นหนึ่งจบลง ผู้อ่านย่อมต้องอยากที่จะรู้จักว่า คนเขียนหนังสือเล่มประทับใจเล่มนั้น เป็นใคร? เป็นใครในที่นี้ไม่ได้หมายเพียงแค่ว่า เขาชื่ออะไร ทำอะไร (แน่นอนว่า นอกจากเขียนหนังสือ เขามีชีวิตอย่างไรนอกเหนือจากนั้น) ซึ่งหนังสือแปลหลายเล่มมักมีชีวประวัติของผู้เขียนแต่ละท่านแนบท้ายเสมอ เป็นบทตาม อย่างของเฮอร์มานน์ เฮสเส หรือของท่านอื่นๆ ที่เป็นนักเขียนต่างประเทศ ไม่แค่นั้น แม้แต่หนังสือไทยนักเขียนไทยบางเล่มก็มีบทส่งท้ายแล้วจึงต่อด้วยความเป็นมาของผู้เขียน

แต่ขอโทษเหอะครับ ขอโทษ(อีกที) หนังสือเล่มนี้ แม้ตอนเริ่มก็พูดถึงแต่คนแปล ตอนลงท้ายจบคำนำบทบรรณาธิการก็เอ่ยถึงคนแปล แม้ตอนจบหลังปกจะมีกล่าวถึงคนเขียนไม่กี่บรรทัดก็เหอะ

ลองอ่านคำนำของสำนักพิมพ์ดูทีครับ

สำนักพิพม์เพ็ทแอนด์โฮมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ตีพิมพ์ผลงานการแปลของ “คุณงามพรรณเวชชาชีวะ” มาแล้วสามเรื่องได้แก่ เดเปอโร รักยิ่งใหญ่จากใจดวงเล็ก เมอร์ซี่ วัตสัน กับ ปฏิบัติการขนมปังปิ้งทาเนย (ทั้งสองเรื่องนี้เป็นงานเขียนของ ‘เคท ดิคามิลโล’ )

เอ็ดเวิร์ด ทูเลน ตามหาหัวใจไกลสุดฟ้า เป็นเรื่องที่สีที่คุณงามพรรณร่วมงานกับเรา ในปีที่เธอกลายเป็นนักเขียนรางวัลซไรต์ ประจำปี ๒๕๔๙ จากผลงานประพันธ์เรื่อง ความสุขของกระทิ ฯลฯ

กลับกลายเป็นว่า ชื่อของผู้เขียนถูกนำไปไว้ในวงเล็บเสียงั้น ในความรู้สึกของข้าพเจ้าคิดว่า มันออกจะไม่แฟร์กับผู้เขียนท่านนี้มากนัก มีที่ไหน เอาเรื่องเขามาแปล แต่เขียนคำนำถึงคนแปลนำหน้าแล้วเอาชื่อคนเขียนไปกรอกไว้ในวงเล็บ ซึ่งในความหมายของสิ่งที่อยู่ในวงเล็บคือการขยายความเพิ่มเติม

ควรแล้วหรือ ข้าพเจ้าคิด แต่ก็นั่นละ ข้าพเจ้าอาจคิดมากหรืออุตริคิดเกินไปก็เป็นได้

( ส่วนนี้ไม่ต้องอยู่ในต้นฉบับ เพียงบันทึกไว้จำก็เท่านั้น )

dicamillo Kate DiCamillo  lived in the South for much of her childhood and received her bachelor’s degree from the University of Florida in Gainesville. Her debut children’s book, Because of Winn Dixie (2000), was a Newbery Honor Book and her second book, The Tiger Rising (2001), was a National Book Award finalist. Her latest book, The Tale of Despereaux (Candlewick, 2003), is winner of the 2004 Newbery Award. Ms. DiCamillo lives in Minneapolis

เคท ดิ คามิลโล ผู้ประพันธ์ เรื่อง เดเปอโร รักยิ่งใหญ่ใจดวงเล็ก ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง นิวเบอร์ลี่ วินน์ดิ๊กซี่ สุนัขร้านชำทำเหตุ หนังสือรางวัลเหรียญเงิน นิวเบอร์ลี่ และ ร็อบ ฮอร์ตัน กับเสือในกรงใจ  หนังสือเขารอบสุดท้ายรางวัลเนชั่นแนลบุ๊ค รวมทั้งเรื่องสนุกของหมูชื่อ เมอร์ซี วัตสัน

เคทเล่าว่า “คริสต์มาสปีหนึ่ง ฉันได้ของเล่นตุ๊กตากระต่ายสวมเสื้อผ้าโก้หรูเป็นของขวัญ สองสามวันต่อมา ฉันฝันว่ากระต่ายตัวนี้นอนคว่ำหน้าอยู่ในมหาสมุทร พลัดหลงจากเจ้าของและรอให้คนไปพบ ตอนเล่านิทานเรื่องนี้ตัวฉันเองก็พลัดหลงอยู่นานเช่นกัน แล้วในที่สุด ก็เหมือนเอ็ดเวิร์ด ฉันก็กลับสู่อ้อมอกเดิมได้”

(จากปกหลังหนังสือ)

 

DSC01202 คน(ไม่)สำคัญ : เรื่องราว ๑๑ คน(ไม่)สำคัญที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญระดับโลก

สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน

สำนักพิมพ์ : openbooks

ส่วนที่ดีที่สุดของชีวิตคนดี คือการกระทำเล็กๆ ไร้นามและไม่มีใครจดจำ แต่เปี่ยมความเมตตาและความรัก 

– วิลเลียม เวิร์ดเวิร์ธ – (1770-1850)

ในยุคที่อิทธิพลของสื่อมวลชนพุ่งสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และต้นทุนในการผลิตสื่อและสื่อสารต่อสาธารณชนลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบจนทำให้ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสามารถเป็น “สื่อปัจเจก” ได้โดยไม่ยากเย็นอะไรนัก การตามหา “ความดังสิบห้านาที” ที่ แอนดี วาร์ฮอล ศิลปินป๊อบรุ่นบุกเบิกเคยกล่าวว่าจะมาเยือนคนทุกคนในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอโชคมาบันดาลอีกต่อไป

หมากัดคนไม่เป็นข่าว คนกัดหมาเป็นข่าว แต่สื่อปัจเจกในยุคนี้ไม่ต้องเรียกสื่อมวลชนมาทำข่าว แถมยังไม่ต้องลงทุนกัดหมา แค่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ อัพโหลดวีดีโอบนยูทูบ เสียเวลาฟอร์เวิร์ดเมลอีกนิดหน่อย แค่นี้ก็ “ดัง” ได้แล้ว (แต่จะดังขนาดไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ยิ่ง “ความดัง” สร้างง่าย และไม่จำเป็นต้องเกี่ยวอะไรเลยกับ “ความจริง” เพียงใด ระดับ “ความดัง” ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะไม่สอดคล้องกับ “ระดับความดี” ของการกระทำเพียงนั้น

แต่กาลเวลาสอนเราว่า ระดับความดีสำคัญกว่าระดับความดัง เพราะระดับความดีเป็นเครื่องบ่งชี้คุณค่า เป็นครูที่สอนเราให้รู้ว่า สิ่งใดบ้างที่มีค่าควรแก่การจดจำ

เพราะสิ่งที่สื่อไม่นำเสนอ ใช่ว่าจะไม่มีจริง

สิ่งที่หนังสือประวัติศาสตร์ไม่บันทึก ใช่ว่าจะไม่ดีงาม

จริงอยู่ว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ในเมื่อทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ความจริงของคนดีจึงอาจถูกกดทับ บิดเบือน หรือลืมเลือนผ่านกาลเวลา

สฤณี อาชวานันทกุล

"คนชายขอบ" | www.fringer.org

บางส่วนบางตอนจากคำนำหนังสือเล่มนี้ที่เว็ป open

หนังสือเล่มนี้จัดเป็นหนังสือสารคดีที่น่าอ่านแล้วย่อยง่ายเล่มหนึ่ง เหมาะสำหรับคนอยากรู้อยากเห็นไปเสียหมดอย่างเช่นข้าพเจ้าเป็นต้น

ประวัติศาสตร์เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่รู้สึกชอบที่จะศึกษา เหตุที่มาน่าจะเป็นด้วยเพราะ จากช่วงนี้ได้อ่านหนังสือวรรณกรรมแปลมากขึ้น ซึ่งวรรณกรรมแปลจากต่างประเทศนั้น ในเนื้อหามักสอดแทรกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าในท้องถิ่น เรื่องเล่า หรืออ้างอิงถึงใครบางคนในหน้าประวัติศาสตร์โลก ซึ่งทำให้งานเขียนหรือวรรณกรรมชิ้นนั้นดูจะมีมิติทางประวัติศาสตร์เพิ่มเข้ามา นอกเสียจากเนื้อหาของเรื่องราวที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ

การผูกเรื่องระหว่าง อดีต ปัจจุบัน อนาคต นั้นเป็นความช่ำชองของผู้เขียนแต่ละท่านที่มีแนวทางแตกต่างกันไป แต่นั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนอ่านได้รู้สึกฉุกคิดที่จะ สืบสาวราวเรื่องของความเป็นมาเป็นไปของประวัติศาสตร์หน้านั้น มันเหมือนเป็นปรากฏการลูกโซ่ที่เกิดจากการอ่านอย่างไงอย่างงั้น

คน(ไม่)สำคัญ : เป็นหนังสือที่เอ่ยถึงคนสำคัญที่ได้สร้างสิ่งสำคัญต่างๆขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งมีในหมวดของ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ กวีปรัชญา นักประพันธ์ และ นักเศษฐศาสตร์

ในเล่มนี้เนื้อหาส่วนที่ข้าพเจ้ารู้สึกสนใจเป็นพิเศษน่าจะเป็นเนื้อหาในส่วนของ คนสำคัญในแถบเอเซียใกล้ๆบ้านเรานี้เอง คนหนึ่งคือ โมโมฟูกุ อันโด ผู้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอีกคนหนึ่งคือ อุ๋เฉินเอิน ผู้ประพันธ์มหากาพย์สอนธรรมะเรื่อง ‘ไซอิ๋ว’

เรื่องราวความเป็นมาของบะหมี่ดูจะบอกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นไปของสังคมโลกในขณะนั้นได้ดีทีเดียว อย่างบางส่วนบางตอนในหนังสือกล่าวว่า

ญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในฐานะย่ำแย่หลังจากที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม ปัญหาการขาดแคลนอาหารทวีความรุนแรงจนกระทรวงสาธารณสุขออกมารณรงค์ให้คนญี่ปุ่นกินขนมปังที่ทำจากแป้งสาลีซึ่งนำเข้าจากอเมริกา (เป็นหนึ่งในแผนการฟื้นฟูญี่ปุ่น ที่อเมริกาเป็นโต้โผ)

อันโดข้องใจว่า เหตุใดรัฐบาลจึงแนะนำให้คนญี่ปุ่นบริโภคขนมปัง แทนที่จะเป็นบะหมี่ซึ่งคนญี่ปุ่นคุ้นเคยมานานกว่า กระทรวงสาธารณสุขตอบข้อสงสัยของอันโดว่า บริษัทผู้ผลิตและร้านค้าที่ขายบะหมี่ในญี่ปุ่นล้วนมีขนาดเล็กเกินไป และไม่มั่นคงพอที่จะตอบสนองความต้องการของคนทั้งประเทศได้

เมื่อได้ยินดังนั้น และหลังจากได้เห็นคนญี่ปุ่นยืนเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อบะหมี่ที่ปรุงสดๆจากเพิงขายอาหารในตลาดมืด อันโดจึงตัดสินใจเริ่มกิจการผลิตบะหมี่ด้วยความเชื่อมั่นว่า

สันติภาพจะเกิดขึ้นในโลกก็ต่อเมื่อ ประชาชนมีกินอย่างพอเพียง”

ความน่าสนใจในการรู้ประวัติศาสตร์คือ เมื่อคุณได้รู้ที่มาที่ไปในสิ่งของต่างๆ นั้นทำให้สายตาที่คุณใช้มองสิ่งๆนั้นมีความรู้สึกที่ผิดแผกไปจากเวลาปกติธรรมดา ที่คุณเพียงมองผ่านๆและเห็นเป็นเพียงสิ่งคุ้นชินที่ทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างของชีวิต

ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรานั้นมีที่มาที่ไปทั้งสิ้น เมื่อผลเกิดจากเหตุ การค้นหาเหตุ นอกเสียจากจะทำให้เราเข้าใจและรู้เรื่องราวของมันมากยิ่งขึ้น เรายังสามารถเข้ากระทำต่อสิ่งนั้นๆได้อย่างพอเหมาะพอควรด้วยความเข้าใจเห็นจริง

ประวัติศาสตร์อาจไม่สำคัญสำหรับใครหลายๆ คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกใบใหญ่ที่เคลื่อนไหวโดยแรงผลักของอดีตประวัติศาสตร์ดูจะเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว

ทว่าหากลองมองประวัติศาสตร์ในแง่ของแรงบันดาลใจในการคิดเรื่องราวในชีวิต หรือเป็นแรงฉุดลากให้เกิดความมุ่งมั้นที่จะกระทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เรื่องราวในประวัติศาสตร์

ก็น่าจะทำให้ชีวิตมีอะไรไปมากกว่าปัจจุบันและอนาคต…

– – –

คนบางคนเชื่อว่า เราสามารถทำให้คนไม่อ่านหนังสือหันมาอ่านวรรณกรรมได้ด้วยการอธิบายเนื้อหาวรรณกรรม ให้คนเหล่านั้นได้ฟังในกรณีเช่นนี้ หรือในกรณีอื่นๆเหมือนกัน ผมว่ามันคงไม่ก่อประโยชน์อะไรนัก คุณไม่สามารถจะทำให้คนหนึ่งคน กลายเป็นแฟนฟุตบอลได้ด้วยการอธิบายความหมายของฟุตบอลได้ด้วยการอธิบายความหมายของฟุตบอลให้คนคนนั้นฟัง

หรือด้วยการตีคุณค่าของฟุตบอล หรืออธิบายกฏกติกา มารยาทต่างๆของกีฬาฟุตบอล มีแฟนฟุตบอลจริงๆเท่านั้นที่เข้าใจว่าฟุตบอลคืออะไร

จะว่าไปแล้ว ฟุตบอลไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตไม่ใช่ภาพจำลองของชีวิตเหมือนอย่างที่นักปราชญ์ฟุตบอลทั้งหลายพร่ำถึง

ผมไม่จำเป็นต้องเข้าใจฟุตบอลก่อนจึงจะเข้าใจชีวิตได้ และถ้าผมเป็นคนที่เข้าใจและรู้จักชีวิตอย่างลึกซึ้ง ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าผมต้องเข้าใจฟุตบอลอย่างถ่องแท้ด้วย

เช่นเดียวกัน การเข้าใจชีวิตก็ไม่ได้ทำให้ผมเข้าใจวรรณกรรมของเกอเธ่ คนที่จะเข้าใจเกอเธ่นั้น คือคนที่ยอมรับวรรณกรรม เช่นเดียวกับคนที่เข้าใจฟุตบอล ก็ต้องเปิดใจกว้างยอมรับฟุตบอลเช่นเดียวกัน จะเรียกสิ่งสิ่งนี้ว่าความรักหรือความชื่นชมก็ไม่ผิดนัก

– เพเตอร์ พิเซล –

ใส่ความเห็น